ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลาย ๆ คนคงจะได้เห็นเทศกาลแห่งความสดใส ประดับประดาไปด้วยสีรุ้งไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ทางม้าลายหรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ของใช้ต่าง ๆ ก็ตาม ใช่แล้วล่ะ มิถุนายน คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIA+ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังธงที่มีสีสดใสเช่นนี้ จะมีเรื่องราวความเป็นมาที่สุดแสนมืดมน แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ต่างก็อยากเห็นการคุ้มครองความรักทุกรูปแบบด้วยกฎหมายที่เท่าเทียมกันทุกเพศ
ในปี 2022 นี้ ประเทศไทยเราก็มีความพยายามที่จะผลักดันพระราชบัญญัติคู่ชีวิต แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต บนแพลตฟอร์มโซเชียลอย่างดุเดือด เพราะเนื้อหาบางส่วนของร่างพ.ร.บ นี้ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมแก่ทุกเพศแต่อย่างใด ในทางกลับกันร่างพ.ร.บ คู่ชีวิตของรัฐบาลขีดกั้น LGBTQIA+ ให้หายเป็นพลเมืองชั้นสองด้วยซ้ำไปเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายเหมือนกับคู่รักชาย-หญิงที่ใช้ทะเบียนสมรส วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับ LGBTQIA+ กันให้มากขึ้น พร้อมเจาะประเด็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่คุ้มครองความรักทุกรูปแบบอย่างไร
LGBTQIA+ คืออะไร มาดูความหมายกัน
เมื่อก่อนหลาย ๆ คนมักจะใช้คำว่า LGBT ซึ่งเป็นคำที่คิดค้นมากว่า 30 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น LGBTQIA+ เพื่อให้ครอบคลุมเพศวิถีและคำจำกัดความต่าง ๆ มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละตัวอักษรสื่อถึงอะไร
- L (esbian) เลสเบี้ยน หมายถึง หญิงที่สนใจเพศหญิงด้วยกัน
- G (ay) เกย์ ในสังคมไทยอาจจะเข้าใจว่าเป็นเพียง ชายรักชายเท่านั้น แต่ฝั่งตะวันตกสามารถใช้กับหญิงที่สนใจเพศหญิงด้วยกันด้วย
- B (isexual) ไบเซ็กซวล หมายถึง บุคคลที่ชอบทั้งสองเพศไม่ว่าจะชายหรือหญิง
- T (ransgender) ทรานส์เจนเดอร์ หมายถึง คนข้ามเพศที่มีเพศวิถีแตกต่างจากเพศกำเนิดจึงมีการเปลี่ยนเพศโดยการผ่าตัดหรือใช้ฮอร์โมน
- Q (ueer) เควียร์ หมายถึง ที่ไม่ได้ชื่นชอบเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันกับเพศกำเนิดของตน และครอบคลุมสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้เพศวิถีของตัวเองชัดเจน (Questioning) ด้วย ซึ่งคำนี้เพิ่งมีการเพิ่มเข้าไปเมื่อ 6 ปีก่อน
- I (ntersex) อินเตอร์เซ็กซ์ หมายถึง บุคคลที่มีโครโมโซมและอวัยวะเพศของทั้ง 2 เพศ ชาย-หญิง เรียกอีกอย่างว่า ภาวะเพศกำกวม
- A (sexual) อะเซ็กซวล หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้รู้สึกสนใจผู้อื่น หรืออาจจะน้อยมาก ๆ ต้องมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้น
คำจำกัดความที่สำคัญของการร่างกฎหมาย
สำหรับ พ.ร.บ คู่ชีวิต และ สมรสเท่าเทียมมีคำจำกัดความที่ต่างกัน ก่อนจะมาดูว่าเนื้อหาภายใน พ.ร.บ.นี้มีความไม่เท่าเทียมอย่างไร มาดูความหมายกันก่อน
● สมรสเท่าเทียม
การสมรสเท่าเทียม หมายถึง เพศกำเนิดเดียวกันที่แต่งงานกันแล้วได้รับสิทธิเท่าเทียมชาย-หญิงทั่วไป เช่น การเซ็นเอกสารยินยอมในการรักษาพยาบาล หรือ สิทธิ์ในการใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นต้น
● พ.ร.บ. คู่ชีวิต
สำหรับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของเพศกำเนิดเดียวกัน แต่ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสแบบปกติ ชาย-หญิง สิทธิ์บางประการจึงไม่ได้รับเช่นเดียวกัน
ทำไม พ.ร.บ. คู่ชีวิต จึงไม่ได้คุ้มครองความรักทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียม
1.คู่ชีวิตและคู่สมรส ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
เนื่องจากการสมรสทั้งสองมีความแตกต่างกันอาจจะเกิดความยากลำบาก เมื่อมีการอ้างสิทธิ์ระดับนานาชาติ ด้วยการสมรส (Lawful Spouses) จะมีการยอมรับโดยทั่วไปมากกว่า การจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Partnerships) ที่ยังไม่มีการใช้อย่างสากล
2.การคุ้มครองสิทธิ์และศักดิ์ศรียังไม่เพียงพอ
การเสนอกฎหมายคู่ชีวิตนี้ ได้มีการยื่นเป็น ป.พ.พ เท่านั้น ดังนั้นเมื่อชาว LGBTQIA+ จดทะเบียนกับชาวต่างชาติ แล้วชาวต่างชาติผู้นั้นย้ายมาทำงานที่ไทยสิทธิ์และศักดิ์ศรีของเขาจะยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น ทูต หรือ เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ
พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ได้เท่าเทียมทุกชีวิตเสมอไป
และนี่คือประเด็นร้อนที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ การร่างกฎหมายที่ยังไม่เป็นธรรมและกีดกันความรักของกลุ่ม LGBTQIA+ จึงได้รับกระแสตอบโต้อย่างดุเดือด และนี่ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการร่างกฎหมายรองรับ LGBTQIA+ ถือว่ายังมีช่องโหว่จำนวนมากที่ผู้คนต่างเรียกร้องให้รัฐบาลอุดมันเสีย ทั้งนี้เราต้องมาจับตาดูกันต่อว่า พ.ร.บ. นี้จะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนในสังคมไทยจะได้รับสิทธิเท่าเทียมโดยไม่มีการด้อยค่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอย่างที่เราทราบกันดีว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ